‘เศรษฐา’ ขันน็อต ’กรมภาษี’ เร่งเครื่องเก็บรายได้ หลังกู้ขาดดุลฯ พุ่ง
- นายกฯ เรียกคุย 3 กรมภาษี หารือแนวทางบริหารจัดเก็บรายได้รัฐ และการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังกู้ขาดดุลเพิ่มเติม 1.12 แสนล้าน
- “คลัง” ยืนยันจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 67 ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
- “สรรพสามิต” แจงจัดเก็บรายได้ 7 เดือนแรกสูงกว่าปีก่อน 11% ขยายตัวมากกว่าจีดีพีที่โต 2%
- มาตรการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้าตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป สกัดสินค้านำเข้าราคาต่ำจากจีนเข้ามาตีตลาด
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกหน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และกรมสรรพากร ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2567 โดยมีนายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุม
สำหรับการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ รวมกันอยู่ที่ 1,463,872 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 35,498 ล้านบาท หรือ 2.4% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 38,876 ล้านบาท หรือ 2.7% แบ่งออกเป็น
1.กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 1,090,683 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9,598 ล้านบาท หรือ 0.9% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 19,569 ล้านบาท หรือ 1.8%
2.กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 304,506 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 47,089 ล้านบาท หรือ 13.4% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 27,541 ล้านบาท หรือ 9.9%
3.กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 68,683 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,993 ล้านบาท หรือ 3.0% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 8,234 ล้านบาท หรือ 10.7%
นายเศรษฐา เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกับ 3 กรมจัดเก็บภาษี เพื่อติดตามการจัดเก็บรายได้ โดยตรงไหนที่ทำได้อีกหรือส่วนไหนที่เร่งทำได้จะทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นก็จะทำ
ส่วนประเด็นแนวโน้มรายได้รัฐบาลจะเพียงพอและไม่ต้องกู้เงินใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนงาน แต่ขณะนี้ผ่านครึ่งปีงบประมาณ ซึ่งต้องดูว่าจุดไหนต้องลดหรือเพิ่ม โดยต้องดูการบริหารจัดการรายจ่ายให้ดี ทั้งมาตรการสนับสนุนทางภาษี สำหรับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งต้องดูว่าแต่ละจุดจะดำเนินการอย่างไรเพราะการจัดเก็บรายได้เป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ โดยเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจที่จะติดตามภาวะเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณา
“ไตรมาส 4 เศรษฐกิจดีขึ้นแน่นอน ดีขึ้นมาก แต่ตอนนี้ผมกำลังดูไตรมาส 3 ว่าทำอย่างไรให้ดีกว่าเดิมอีกหน่อย เพราะตอนนี้งบประมาณเริ่มจ่ายออกไปแล้ว วันนี้พูดคุยปัญหาว่าจะมีหรือไม่หากมีการเบิกจ่ายงบประมาณออกไปให้ได้เร็วที่สุด” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ตั้งงบประมาณกลางปีเพิ่มภาระรัฐบาล
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การประชุมหน่วยงานกระทรวงการคลังในส่วนการจัดเก็บรายได้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 (งบประมาณกลางปี 2567) วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท
ทั้งนี้เป็นการกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 1.12 แสนล้านบาท ทำให้การขาดดุลในปีงบประมาณปี 2567 เพิ่มเป็น 815,056 ล้านบาท ซึ่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่เพิ่มเติมมาตรา 21 กำหนดให้การตั้งงบประมาณรายจ่ายขาดดุลต้องอยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับขณะนั้น และต้องไม่เกิน 80% ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น
นอกจากนี้ หลังจากที่รัฐบาลมีการกู้เงินเพิ่มเติมมาทำงบฯ กลางปี 2567 อีก 1.12 แสนล้านบาท จะทำให้การขาดดุลงบประมาณในปี 2567 นั้นขึ้นไปอยู่ในระดับ 805,000 ล้านบาท และมีกรอบให้รัฐบาลกู้เงินคงเหลืออยู่เพียง 10,056 ล้านบาท เท่านั้น
งบขาดดุลพุ่งหนุนรัฐบาลเร่งหารายได้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การตั้งงบประมาณขาดดุลจำนวนมากของรัฐบาลนั้นทำให้รัฐจำเป็นต้องเร่งหารายได้มากจ่ายคืนเงินกู้ รวมทั้งใช้ในการชำระดอกเบี้ยในแต่ละปีงบประมาณมากขึ้น รวมทั้งช่องว่างในการกู้ขาดดุลงบประมาณที่เหลือน้อยมาก หากมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินมาใช้ในช่วงวิกฤติขนาดใหญ่ที่งบกลางฯของรัฐบาลไม่เพียงพอก็หลีกเลี่ยงที่จะต้องกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มอีก
“การที่ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณมากขนาดนี้ดอกเบี้ยที่ต้องชำระมันจะเพิ่มเติมมากขึ้นด้วย ทำให้ไปเบียดเบียนงบประมาณส่วนอื่นๆในปีงบประมาณต่อๆ ไปด้วย”
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการรคลังรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานในการจัดเก็บรายได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการทราบความคืบหน้า ส่วนประเด็นการจัดเก็บรายได้ยังต่ำกว่าเป้าหมาย เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่แล้วมีแผนในการทำงาน
ขณะที่งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ที่ตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมไว้ 1 หมื่นล้านบาท กระทรวงการคลังมีแหล่งรายได้อยู่แล้ว โดยแหล่งเงินไม่ใช่รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2567 ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และไม่มีผลต่อการดำเนินงานของรัฐซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง
“บางหน่วยงานอาจจัดเก็บรายได้เกินเป้าก็เป็นการชดเชยกันไป ส่วนกรมสรรพสามิตซึ่งประเมินแล้วว่าทั้งปีจะจัดเก็บรายได้น้อยกว่าประมาณการ ก็มีเหตุที่เข้าใจได้ เพราะรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการลดภาษีน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชน และมาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ”
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าฐานะการคลังยังแข็งแกร่ง และจะปิดหีบงบประมาณปี 2567 ลงได้แน่นอน โดยไม่ต้องกู้เพิ่ม ใช้เพียงกลไกระบบราชการปกติก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งในการจัดทำงบประมาณที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีปีไหนที่จัดเก็บ หรือเบิกจ่ายรายได้ตามเป้า จะเกินเป้าหรือต่ำเป้าไปบ้าง แต่ภาพรวมก็ไม่ได้หนักใจต่อการจัดเก็บรายได้ปีนี้
ชี้รัฐบาลตั้งเป้า “สรรพสามิต” ไว้สูง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตที่ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.4 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้สูงมาก โดยให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้สูงขึ้น 25%
ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 ต่ำกว่าเป้าหมายราว 3.9 หมื่นล้านบาทโดยมีสาเหตุหลักจากกรมสรรพสามิตที่จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญเนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย
1.มาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมัน ดีเซล และน้ำมันเบนซินในช่วงต้นปี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราว 24,000 ล้านบาท
2.มาตรการส่งเสริมยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ โดยกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 2% ซึ่งมีช่วงห่างจากอัตราการจัดเก็บภาษีรถสันดาปอยู่ที่ 25-35% เพื่อให้รถอีวีมีราคาที่สามารถแข่งขันกับรถยนต์สันดาปได้ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการผลิตรถอีวีในประเทศ และเกิดการจ้างงานได้ตามแผน
3.การจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 รายได้หลักของสรรพสามิต เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัว
“ปัจจุบันจีดีพีขยายตัวที่ 2% แต่จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายและสูงกว่าจีดีพี รวมทั้งสูงกว่าปีก่อนถึง 11% ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตสนับสนุนนโยบายการลดภาษีน้ำมันและภาษีสรรพสามิตรถ EV ซึ่งช่วยมีการลงทุนอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น โดยรถ EV เก็บภาษีแค่ 2% ส่วนรถยนต์สันดาปเก็บภาษี 25-30% ซึ่งแม้ว่าจัดเก็บภาษีน้อยลงแต่ทำให้ยอด EV เติบโตถึง 600% ในปีนี้ ช่วยสร้างอุตสาหกรรมใหม่” นายเอกนิติ กล่าว
เก็บ VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การที่รัฐบาลเร่งมาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท โดยเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลังออกประกาศฉบับใหม่เพื่อเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้ามูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้านำเข้ามูลค่าตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป จากเดิมไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท โดยให้มีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 15 วัน จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2567
สำหรับมาตรการดังกล่าวนายกรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจรัฐบาลได้หารือผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าในไทยที่ถูกสินค้าราคาต่ำจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดจำนวนมากในสินค้าหลายประเทศ ซึ่งส่งกับการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการไทยสู้ราคาที่ต่ำมากไม่ได้
ประกอบกับมีข้อกังวลเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ของผู้ประกอบการชาวจีนที่ใช้รูปแบบของ “Zero Economy” คือในกระบวนการผลิตสินค้า หรือการเข้ามาทำธุรกิจในไทยจะใช้วัตถุดิบ เครื่องจักร รวมทั้งแรงงานจากจีนเข้ามาผลิตในประเทศไทยส่งออกขายในท้องตลาดและนำรายได้ส่งกลับคืนไปยังประเทศจีน
ทั้งนี้ทำให้ไทยที่เป็นต้นทางการผลิตไม่ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่าที่ควรซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องวางมาตรการแก้ไข นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการไทย
“ตอนนี้การรุกเข้ามาของสินค้าจีน และการผลิตจากจีนในบางโรงงานที่เข้ามาตั้งในไทยแต่ใช้เครื่องมือ เครื่องจักร จากจีน และจ้างคนจีนเข้ามาทำการผลิตด้วย และลูกค้าก็คือคนจีนอีกทีแบบที่ไทยได้ประโยชน์น้อยมาก เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไข ไม่เช่นนั้นเราอาจต้องเจอกับภาวะ Zero Economy ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจไทย”